โรงพยาบาลธนบุรี ตรังThonburi Trang

Call Center : 075 215 215

ความดันโลหิตสูงอย่าปล่อยไว้อันตรายกว่าที่คิด

ความดันโลหิตสูงอย่าปล่อยไว้อันตรายกว่าที่คิด
 ความดันโลหิตสูงอย่าปล่อยไว้อันตรายกว่าที่คิด
 
ความดันโลหิตสูงเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่เป็นโรคสำคัญที่ควรได้รับการดูแลเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในอนาคต เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตวายระยะสุดท้าย พื้นฐานการดูแลสุขภาพที่สำคัญในการควบคุมความดันโลหิต ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของตนเอง และการรักษาโดยการรับประทานยา ซึ่งจะช่วยให้ความดันโลหิตกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสม ลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ และดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข
 
ความดันโลหิตสูงมีกี่ชนิด
ความดันโลหิตสูง สามารถจำแนกตามสาเหตุการเกิดได้เป็น 2 ชนิด คือ
 
1. ความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (primary or essential hypertension)
2. พบได้ประมาณ 95% ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั้งหมด ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
 
แม้ปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการร่วมแห่งชาติด้านการประเมินและรักษาโรคความดันโลหิตสูงของสหรัฐอเมริกาพบว่า มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ กรรมพันธุ์ ความอ้วน การมีไขมันในเลือดสูง การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด การไม่ออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ความเครียด อายุที่มากขึ้น และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
 
3. ความดันโลหิตสูงชนิดที่ทราบสาเหตุ (secondary hypertension)
พบได้น้อย คือประมาณ 5-10% ส่วนใหญ่เกิดจากการมีพยาธิสภาพของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยจะส่งผลให้เกิดแรงดันเลือดสูง ส่วนใหญ่อาจเกิดจากพยาธิสภาพที่ไต ต่อมหมวกไต โรคหรือความผิดปกติของระบบประสาท ความผิดปกติของฮอร์โมน โรคของต่อมไร้ท่อ โรคครรภ์เป็นพิษ การบาดเจ็บของศีรษะ การใช้ยาและการถูกสารเคมี เป็นต้น
 
ทั้งนี้เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเกิดจากสาเหตุใด การรักษาที่สาเหตุก็จะทำให้ระดับความดันโลหิตจะลดลงเป็นปกติได้
 
อาการของโรคความดันโลหิตสูง
อาการของโรคความดันโลหิตสูง ปรากฏได้หลายอย่าง ดังนี้
 
1. ปวดศีรษะ
2. เวียนศีรษะ (dizziness) มักพบว่าเกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะ
3. เลือดกำเดาไหล (epistaxis)
4. เหนื่อยหอบขณะทำงาน หรือมีอาการเหนื่อยหอบจนนอนราบไม่ได้ แสดงถึงการมีภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายล้มเหลว
5. อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วม ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอกสัมพันธ์กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากการมีเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือจากการมีกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากจากภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นมานานๆ
 
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง
เมื่อมีความดันโลหิตสูง มักเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เป็นโรคต่างๆ ได้ เช่น
 
1. หัวใจ อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว มีอาการหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ มีอาการขาบวม
2. ไต อาจเป็นโรคไตเรื้อรัง มีอาการขาบวม ซีด ผิวแห้ง
3. สมอง อาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อาการที่แสดงออก คือ มีอาการปากเบี้ยว อ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก หรืออาจมีภาวะสมองเสื่อม
4. ตา อาจเกิดความผิดปกติที่จอประสาทตา
 
ความดันโลหิตสูงต้องระวัง และควรพบแพทย์
ผู้ที่มีภาวะใดภาวะหนึ่ง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงดังต่อไปนี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงก่อนออกกำลังกาย
 
- มีค่าความดันโลหิต SBP ≥ 180 มม.ปรอท หรือ DBP ≥ 110 มม.ปรอท
- มีอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะเมื่อออกแรงเล็กน้อยหรือขณะพัก
- มีความเสี่ยง หรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลว
- มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- มีโรคเบาหวานที่ยังควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี
- มีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันอื่นๆ
- เป็นผู้สูงอายุ
- มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่จัด