‘หัวใจวาย’ หรือ ‘หัวใจล้มเหลว’ คือภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจสูญเสียการทำงานจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้ ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย เกิดได้กับทุกวัย แต่มักจะพบบ่อยในผู้สูงอายุเพศชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ภาวะหัวใจวายเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ และความดันโลหิตสูงจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลง เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถดูแลรักษาควบคุมไม่ให้อาการทรุดลงได้
สาเหตุภาวะหัวใจวาย
สาเหตุจากหัวใจ
- อาการช็อกและหมดสติกระทันหัน เนื่องจากเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งเป็นสาเหตุภาวะหัวใจวายที่พบบ่อยที่สุด
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ติดเชื้อ
- โรคลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ
จากสาเหตุอื่น
- โรคอื่นๆ ที่สัมพันธ์ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวานและโรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ทั้งสิ้น
อาการของผู้ที่เป็นภาวะหัวใจวาย
- อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย
- ขาบวม
- แน่นหน้าอกตอนกลางคืน นอนราบไม่ได้ ลุกมาไอตอนกลางคืน
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
การป้องกันเบื้องต้น
- ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ
- สำรวจตนเองว่ามีอาการน่าสงสัย เช่น เหนื่อยง่าย ขาบวม แน่นหน้าอก และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงและรสเค็มจัด เลิกสูบบุหรี่
- รักษาโรคที่เป็นสาเหตุภาวะหัวใจวาย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และไทรอยด์เป็นพิษ