โรงพยาบาลธนบุรี ตรังThonburi Trang

Call Center : 075 215 215

มะเร็งเต้านม... ภัยร้ายของผู้หญิง

มะเร็งเต้านม... ภัยร้ายของผู้หญิง
 มะเร็งเต้านม... ภัยร้ายของผู้หญิง
“มะเร็ง” ได้ชื่อว่าเป็นโรคร้ายที่ใครๆ ต่างก็กลัว และสำหรับ

ผู้หญิงแล้ว “มะเร็งเต้านม” ถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวอย่างมาก เพราะมาเยือนโดยไร้สัญญาณเตือน

ปัจจัยเหล่านี้ไง เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้
- ผู้หญิงที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ขึ้นไป จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
- ผู้หญิงที่ให้นมบุตรมากกว่า 1 ปี
- ผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนเพศหญิง หลังภาวะหมดประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ผู้หญิงที่น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
- ผู้หญิงที่สูบบุหรี่
- ผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงก็มากขึ้น
- พันธุกรรม
- ประจำเดือนมาเร็ว หรือหมดช้า
- ความหนาแน่นของเนื้อเต้านม ซึ่งผู้หญิงเอเชียจะมีความหนาแน่นของเนื้อเต้านมมากกว่าผู้หญิงยุโรปหรืออเมริกา

เช็กลิสต์ อาการมะเร็งเต้านมที่พบบ่อย
- มีก้อนที่เต้านม
- มีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะเต้านม
- มีของเหลวหรือเลือดไหลออกจากหัวนม
- มีอาการเจ็บที่รักแร้ ซึ่งเป็นอาการของมะเร็งที่กระจายไปบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้

ค้นหาเนื้อร้าย ด้วยแมมโมแกรม
การตรวจเต้านมที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากล คือการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์เต้านม (Breast Ultrasound) ซึ่งการตรวจแมมโมแกรมจะแสดงรายละเอียดสิ่งผิดปกติที่มีขนาดเล็กมากๆ เกินกว่าที่จะพบได้จากการคลำ การตรวจด้วยวิธีนี้จึงเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่มีความเสี่ยงตามปกติ

ทั้งนี้การทำแมมโมแกรมทำให้เราตรวจพบมะเร็งเต้านม และการบีบ กดเต้านมไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านม อีกทั้งการทำแมมโมแกรมเป็นระบบดิจิตอลจึงทำให้ปริมาณรังสีค่อนข้างต่ำ ซึ่งการทำแมมโมแกรม 1 ครั้งเทียบเท่ากับการเอกซเรย์ปอด 2 รูป ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยมาก

พบความผิดปกติก่อนสายเกินแก้ ด้วยการ “คลำ”
การคลำเต้านมด้วยตนเองจะมีประโยชน์เมื่อผู้หญิงมีความคุ้นเคยกับเต้านมของตนเอง เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นย่อมจะทำให้สามารถรับรู้ได้เร็วกว่าคนที่ไม่เคยสังเกตตนเองมาก่อน โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการคลำเต้านมด้วยตนเอง คือ 7 วัน หลังจากเริ่มมีประจำเดือน เพราะเต้านมจะไม่คัดตึงและบวมน้อยจึงไม่เจ็บ เมื่อมีการคลำเต้านม ฉะนั้นหากหมดประจำเดือนควรตรวจคลำโดยเลือกวันใดวันหนึ่งที่สะดวกเป็นประจำทุกเดือน

รักษาอย่างไร เมื่อพบเนื้อร้าย
ขั้นตอนการรักษามะเร็งเต้านม เริ่มต้นจากการตรวจวินิจฉัย ซึ่งประกอบไปด้วยประวัติการตรวจร่างกาย ผลตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่ ผลตรวจการทำอัลตราซาวด์เต้านม ผลการตรวจแมมโมแกรม และการตรวจชิ้นเนื้อ เมื่อผลการตรวจทั้ง 3 ส่วนไปในทิศทางเดียวกัน ก็ควรรีบวางแผนการรักษาทันที

รักษาแบบ Individual Life เพื่อให้ผลออกมาดีที่สุด
การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน เป็นการรักษาที่ประกอบร่วมกันหลายส่วน ทั้งทีมแพทย์สหสาขา ศัลยแพทย์ผ่าตัด แพทย์ เคมีบำบัด แพทย์รังสีรักษา โดยคนไข้แต่ละรายจะวางแผนการรักษาแตกต่างกัน เรียกได้ว่าเป็นการรักษาแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งพิจารณาจากระยะของโรค ชนิดที่เป็น ลักษณะเต้านม และพื้นฐานร่างกายของผู้ป่วย

ในส่วนของการผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาจากลักษณะโรค ระยะของโรค พื้นฐานความเหมาะสมของร่างกายคนไข้ และความต้องการของคนไข้ร่วมกัน ซึ่งทุกขั้นตอนในการรักษามะเร็งเต้านมจะเน้นการดูแลแบบเฉพาะบุคคล (Individual Life)

ผลการรักษา ขึ้นอยู่กับระยะที่ตรวจพบ
มะเร็งเต้านมมีหลายชนิด ผลการรักษาจะสัมพันธ์กับชนิดของโรคและระยะของโรคเป็นสำคัญ การรักษาจะได้ผลดีที่สุดเมื่อผู้ป่วยปฏิบัติตามแผนการรักษาที่วางร่วมกันกับทีมแพทย์อย่างต่อเนื่องและครบถ้วน โดยมีภาพรวมดังนี้

- ระยะที่ 1 – ระยะที่ 2 โดยเฉลี่ยโอกาสหายมีมากกว่า 90 %
- ระยะที่ 3 โดยเฉลี่ยโอกาสหายประมาณ 70 %
- ระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจาย การรักษาอาจไม่ได้หวังผลเพื่อให้หาย แต่ปัจจุบันคนไข้กลุ่มที่มีการแพร่กระจายมีโอกาสรอดชีวิตเกิน 5 ปี มีสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าผู้ป่วยในระยะแพร่กระจายจะไม่มีโอกาสรักษาเพื่อยืดชีวิตให้ยาวนานขึ้น

ป้องกันอย่างไร ให้ห่างไกลมะเร็งเต้านม
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
- หมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองเดือนละครั้งอย่างสม่ำเสมอ
- เมื่ออายุ 35-40 ปี ควรเข้ารับการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Digital Mammogram) และอัลตราซาวด์เต้านม (Breast Ultrasound) หรือตามที่แพทย์นัด

นอกจากการตรวจเต้านมด้วยตัวเองแล้ว สำหรับแพทย์ทุกคนต่างต้องการให้ผู้ป่วยเข้ามาพบเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมากกว่าที่จะเข้ามาหาเมื่อมีอาการ เพราะการมีอาการ นั่นหมายความว่าโรคมะเร็งกำลังเข้ามาสู่ชีวิตของผู้ป่วยแล้ว